7.3.09

อิทธิพลหนังและสื่อบันเทิง : ยุคโลกาภิวัฒน์


ที่มา " http://www.elearneasy.com "
ผู้เขียน : กนกกร ตัลยารักษ์ (มศว)
วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552


:: อิทธิพลหนังและสื่อบันเทิง

ในยุคโลกไร้พรมแดน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสินค้าและวัฒนธรรมข้ามพรมแดน ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งไหลของสินค้าและวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง หรือจากซีกโลกหนึ่งไปสู่อีกซีกโลกหนึ่งได้
กระแส “Americanization” ที่เคยเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อน อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของกระบวนการขายสินค้าผ่านการแทรกซึมของวัฒนธรรมอเมริกัน โดยมี “Hollywood Product” เป็นตัวนำร่อง แต่ปัจจุบัน เมื่อลมพัดมาฝั่งตะวันออก วัฒนธรรมเอเชียกลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ “จีน” ซึ่งถือเป็นประเทศพี่ใหญ่แห่งเอเชียดูจะเป็นตัวเต็ง เพราะเป็นรายแรกของเอเชียที่เริ่มแผ่ขยายวัฒนธรรมจีนผ่านหนังและละครส่งออกไปประเทศต่าง ๆ
แต่ทว่ากระแสหนังตะวันออกก็ยังไม่จบ มาถึงกระแส J-Trend ที่มาแรงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สร้างมูลค่าและค่านิยมอันดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นได้มาก แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งกระแส “Hallyu” จากประเทศเล็ก ๆ ที่องค์การ UNESCO เคยจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนเมื่อหลายสิบปีก่อน ประเทศที่มีการผ่านสงครามซ้ำแล้วซ้ำอีก ได้ถูกส่งออกไปเผยแพร่อยู่ทั่วโลก ทำให้ “พี่ใหญ่” หลายประเทศต้องหันมามองประเทศเล็ก ๆอย่าง “ประเทศเกาหลี” ในมุมใหม่
มาพูดถึงกระแสเกาหลีที่มาแรงในปัจจุบันดีกว่านะคะ
“Hallyu” หรือ “Korean Wave” คือ วัฒนธรรม K-POP ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะละครและหนังเกาหลีที่ได้รับการยอมรับจากคนดูได้ทุกชาติทุกภาษา และสามารถสร้างกระแสได้สูงในตลาดโลกเลยทีเดียว โดยเริ่มต้นจากชนชาติเอเชียด้วยกัน ข้ามฝั่งไประบาดยังฝั่งตะวันตก ทั้งยุโรป อเมริกา ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศมุสลิมอย่างตะวันออกกลาง ซึ่ง Korean Wave เกิดขึ้นครั้งแรกในปลายยุค 90 โดยจีนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Hallyu” หมายถึง ปรากฏการณ์ความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีที่มาจากอิทธิพลของสินค้า วัฒนธรรม K-POP ได้แก่ เพลง ละคร ภาพยนตร์ นิยาย การ์ตูน แอนิเมชั่น ฯลฯ โดยเริ่มมาจากกิจกรรมของภาคเอกชนในการค้าขายทางวัฒนธรรมไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์ ละคร และเพลงเกาหลี แต่กระแสที่เกิดขึ้นและรายได้มหาศาลที่กลับเข้าสู่ประเทศ ทำให้รัฐบาลเกาหลีต้องกลับมาพิจารณานโยบายเสียใหม่ สำหรับจุดขายของสินค้า Hallyu หรือสินค้าวัฒนธรรมเกาหลี โดยเฉพาะหนังละครและเพลงเกาหลีมาจากความสดใหม่ที่เป็นทางเลือกของตลาดโลก
อาจกล่าวได้ว่า Hallyu ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะสังเกตได้จากมูลค่าการส่งออกละครของเกาหลีในปี พ.ศ.2547 อยู่ที่ประมาณ $71.46 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2546 ถึง 69.6% และในปีเดียวกันนี้เอง ราคาขายลิขสิทธิ์ละครเกาหลีต่อ 1 ยูนิต (1 ยูนิต = ตอนละ 50 นาที) เพิ่มขึ้นจาก $2,198 เหรียญ ขึ้นไปถึง $4,046 เหรียญ คิดเป็น 48% ทั้งนี้เพราะกระแสเกาหลีที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ภาพลักษณ์คุณภาพที่ดีของละครเกาหลี และกระแสนิยมในตัวนักแสดงเกาหลี ที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เพิ่มมูลค่าให้กับละครเกาหลี สำหรับมูลค่าการส่งออกของภาพยนตร์เกาหลีในปี พ.ศ.2547 มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก $31 ล้านเหรียญ ไปอยู่ที่ระดับ $75 ล้านเหรียญ คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 141% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้ทั่วโลกหรือแม้แต่รัฐบาลเกาหลีต้องกลับมาพิจารณาทบทวนนโยบายการโปรโมตสินค้า Hallyu เสียใหม่



ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของสินค้า Hallyu โดย Korea International Trade Association’s Trade Research Insitute กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา สินค้า Hallyu ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในเกาหลีถึง $1 พันล้านเหรียญ ขณะเดียวกัน สินค้าเหล่านี้ยังนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศเกาหลีได้สูงถึง $1.87 พันล้านเหรียญ นอกจากรายได้จากการส่งออกสินค้า Hallyu พูดได้ว่า กระแส Hallyu ตอนนี้ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยมีละคร หนัง และเพลงเป็นสื่อการตลาดในการโปรโมตวัฒนธรรม โดยมีนักร้องและนักแสดงเป็นทูตทางวัฒนธรรมคนสำคัญ เหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนช่วยต้อนรับทางการค้าในประเทศต่าง ๆ ที่กระแส K-POP ได้เข้าไปนำร่องไว้ก่อนแล้ว จากนี้ก็รอเพียงแต่ว่าสินค้าใดของเกาหลีที่จะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น LG และ Samsung ที่มียอดขายสินค้าในประเทศจีนเพิ่มขึ้นถึง 40% ในปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นปีที่ “Winter Sonata” และ “Winter Love Song” ยังอยู่ในความประทับใจของชาวจีนหลายล้านคน หรืออีกกรณีที่ “แดจังกึม” กำลังนำเอาสินค้า Food Products และสินค้าเกษตรจากเกาหลีเข้าไปตีตลาดอาหารญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองก็กำลังคลั่งไคล้อาหารเกาหลีอย่างมาก
นอกจากอาหารแล้วก็ยังมีสินค้าหรือธุรกิจอีกหลายประเภท เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจศัลยกรรม รวมถึงเครื่องสำอาง แฟชั่น รถยนต์ ฯลฯ ที่จะบุกตลาดได้ง่ายขึ้น เพราะภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีที่ดีขึ้น และความเข้าใจในวัฒนธรรมเกาหลีของผู้บริโภค

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับบทความนะครับ